อินเดีย-ญี่ปุ่น แจ้ง WTO เตรียมตอบโต้มะกัน ปมเก็บภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียม

16 พฤษภาคม 2568
อินเดีย-ญี่ปุ่น แจ้ง WTO เตรียมตอบโต้มะกัน ปมเก็บภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียม

อินเดียและญี่ปุ่นได้แจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม

ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรป (EU) และอังกฤษได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนในลักษณะเดียวกันไปยัง WTO แล้วเช่นกัน

ในเอกสารที่ยื่นต่อ WTO อินเดียและญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2561 เข้าข่ายมาตรการปกป้อง ภายใต้ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้องของ WTO (WTO Agreement on Safeguards) แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้แจ้งให้ WTO ทราบอย่างเป็นทางการก็ตาม นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังสงวนสิทธิ์ที่จะระงับการให้สิทธิประโยชน์และข้อผูกพันอื่น ๆ ด้วยการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ

อินเดียประเมินว่า ภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ และทำให้สหรัฐฯ สามารถเรียกเก็บภาษีจากอินเดียได้ถึง 1.91 พันล้านดอลลาร์ โดยอินเดียประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ เพื่อให้ได้มูลค่าเทียบเท่ากับภาษีที่ตนเองถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บ

ด้านญี่ปุ่นแจ้งว่า มาตรการตอบโต้จะครอบคลุมทั้งภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการจำกัดการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่สหรัฐฯ ตั้งขึ้นด้วย โดยจะระงับสิทธิประโยชน์ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการในอัตราที่เทียบเท่ากัน และจะยื่นรายละเอียดซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลการส่งออกล่าสุดให้ WTO ก่อนการบังคับใช้มาตรการ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2561 ภายใต้มาตรา 232 ของพระราชบัญญัติการขยายการค้าปี 2505 โดยอ้างความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ และในเดือนก.พ. 2563 สหรัฐฯ ได้ขยายการจัดเก็บภาษีไปยังผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเหล็กและอะลูมิเนียมเพิ่มเติม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มี.ค 2568 รัฐบาลทรัมป์ได้ปรับขึ้นภาษีอะลูมิเนียมจาก 10% เป็น 25% พร้อมยกเลิกโควตานำเข้าและข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่เคยมีต่อภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวสร้างความไม่พอใจและเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวาง ขณะที่ EU และอังกฤษก็ได้แจ้ง WTO ว่าขอสงวนสิทธิ์ในการระงับสิทธิประโยชน์ทางการค้าในระดับที่ทัดเทียมกันเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 68)


แหล่งที่มา : อินโฟเควสท์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.